Resilience Skill ทักษะสำคัญในการทำงานยุคใหม่ ที่ทุกคนต้องรู้จัก

 Resilience Skill ทักษะสำคัญในการทำงานยุคใหม่ ที่ทุกคนต้องรู้จัก


เมื่อมนุษย์เราต้องอาศัยอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในโลกการทำงานมากขึ้น จนกลายเป็นยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่จะถาโถมเข้ามา จนอาจกลายเป็นอุปสรรคให้เหล่าคนทำงานตั้งรับกันแทบไม่ทัน ดังนั้นบทความนี้เราจะมาพูดถึงทักษะใหม่แห่งยุค อย่าง Resilience Skill ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรมีติดตัวไว้ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสามารถฮีลใจตัวเองให้พร้อมต่อสู้กับงานได้ทุกรูปแบบ

Resilience คืออะไร

หากแปลกันอย่างตรงตัวแบบง่าย ๆ Resilience คือ ความสามารถในการฟื้นตัว หรือหากจะขยายความให้ละเอียดมากขึ้น Resilience หมายถึง กระบวนการที่เป็นส่วนช่วยในการปรับตัวและทำให้เราสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปสรรค ความยากลำบาก เรื่องท้าทาย การถูกกระทบกระเทือนจิตใจ ภัยคุกคาม โศกนาฏกรรม หรือความเครียดสะสมจากงานและปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาชีวิต ปัญหาความรัก ปัญหาเรื่องงาน ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่แล้ว Resilience หรือ ความสามารถในการฟื้นตัว มักมาคู่กับความสามารถในการปรับตัว และเรียนรู้ที่จะให้เกิดความยืดหยุ่นในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย 

Resilience Skill คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร  

Resilience skill คือความสามารถในการพาตัวเองกลับสู่สภาวะเดิมด้วยความคิดที่ยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Resilience mindset) หรือถ้าให้เปรียบเทียบง่าย ๆ ดังคำกล่าวของไทยที่เราคุ้นเคยกัน นั่นก็คือ “ล้มแล้วลุก” นั่นเอง แต่การมี Resilience Skill นั้นจะช่วยเสริมให้มนุษย์เราได้สวมบทบาทเป็นตุ๊กตาล้มลุก นั่นก็คือ ถ้าล้มแล้วก็ต้องสามารถที่จะลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

โดยความสำคัญของ Resilience Skill ก็คือ หากใครที่มีทักษะนี้ จะช่วยทำให้มีความแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับเรื่องราวอุปสรรคหรือปัญหาต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังที่เรากล่าวไปข้างต้นว่า ยิ่งในยุคนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การมี Resilience Skill นี่แหละ คือทักษะที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี เพราะบางครั้งคุณอาจต้องรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า หรือเรื่องราวของการทำงานที่ไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งที่ความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ ทั้งในเรื่องของแผนงาน รวมไปถึงสภาวะทางด้านอารมณ์ ก็จะสามารถอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง

ซึ่งล่าสุดเราอาจจะเห็นได้ว่าบางองค์กร เริ่มมีการขับเคลื่อนให้พนักงานมี Resilience Skill กันบ้างแล้ว เพราะอีกหนึ่งความสำคัญของเจ้าทักษะนี้ก็คือ จะมีส่วนช่วยให้บริษัท องค์กร หรือธุรกิจ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลักษณะของ Resilience Skill 

หากจำแนกลักษณะของ Resilience Skill สามารถแบ่งออกได้คร่าว ๆ เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.การยอมรับความจริง

บางครั้งการที่จะมี Resilience Skill ได้นั้น ก็ต้องยอมออกจากทุ่งลาเวนเดอร์เสียก่อน แล้วต้องเผชิญกับความจริงให้ได้ เพราะการแก้ปัญหาที่ดีนั้น เราจะต้องมองเห็นถึงต้นตอของปัญหาให้ได้เสียก่อน บางครั้งหากหาสาเหตุของปัญหาไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะโทษตัวเอง โทษคนอื่น หรือโทษสิ่งรอบข้าง แต่ให้รีบหาวิธีแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด 

ซึ่งคนที่มี Resilience Skill อยู่ในตัวนั้น จะคอยบอกตัวเองอยู่เสมอว่า ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ มีการมองหาสาเหตุอย่างรอบด้าน ไม่ด่วนตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากเราสามารถยอบรับความจริงกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดนั่นเอง

2.ทบทวนปัญหาและทบทวนตัวเอง

เมื่อปัญหาต่าง ๆ ได้เกิดขึ้น การมี Resilience Skill นั้น จะช่วยให้คุณกล้าที่จะเปิดใจกับตัวเอง หันมาตั้งคำถามและทบทวนตัวเองว่า ในอดีตที่ผ่านเรามีข้อผิดพลาดใดเกิดขึ้นบ้าง มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง หรือมีส่วนไหนบ้างที่เรายังไม่ได้พัฒนาตัวเอง จนก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้น เพราะการทบทวนตัวเอง ถือเป็นอีกหนึ่งลักษณะสำคัญของผู้ที่มี Resilience Skill

เมื่อทบทวนตัวเองจนทราบถึงข้อบกพร่องในตัวแล้ว ขั้นต่อมาก็คือการทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อยอมรับความจริงได้แล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการแก้ปัญหา การมีความยืดหยุ่นในตัวอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างมีระบบ ไม่ก่อให้เกิดความเครียด และจะช่วยให้การสะสางเป็นได้อย่างรวดเร็วขึ้น

3.พัฒนาและพร้อมเดินหน้า

หลังจากการยอมรับความจริง ทบทวนปัญหา และทบทวนตัวเองแล้ว คนที่มี Resilience Skill จะยังไม่หยุดอยู่กับที่ แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกแก้ไปแล้ว แต่ยังต้องพร้อมที่ก้าวต่อไปด้วยการพัฒนาตนเอง ด้วยการดึงสิ่งที่บกพร่องของตัวเอง พร้อมทั้งนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาบทเรียน พยายามหาทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพัฒนาก็ไม่ควรเป็นการกดดันตัวเองให้ทุกอย่างต้องเพอร์เฟกต์ แต่การมี Resilience Skill จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้คุณได้เรียนรู้และพัฒนาไปแบบ Step by Step เมื่อบ่มเพาะจนได้ที่ คราวนี้ไม่ว่าอุปสรรคที่เข้ามาใหม่จะหนักแค่ไหน รับรองว่ารับมือได้แบบสบาย ๆ 

วิธีการพัฒนา Resilience Skill ของตัวเอง

เมื่อเรามีความยืดหยุ่น หรือ Resilience Skill ในตัวเองแล้ว ยังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ อีก ที่เป็นส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะนี้ของเราให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะความคิดยืดหยุ่นถือเป็นทักษะที่ไม่หยุดนิ่ง สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา แถมยังช่วยให้ปรับตัวได้ง่ายขึ้น เมื่อเจอสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย โดยปัจจัยที่จะช่วยพัฒนา Resilience Skill ได้แก่

มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

การเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น ในแต่ละวันต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นคนในแผนก คนต่างแผนก หรือคนอื่น ๆ ภายในบริษัท และอาจรวมไปถึงการออกไปพบปะลูกค้า สำหรับคนที่ต้องทำงานในตำแหน่งที่ต้องติดต่อสื่อสารเป็นหลัก ดังนั้นการเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ก็จะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น ช่วยให้การประสานงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

สำหรับวลีเด็ดตลอดกาลอย่าง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” บอกเลยว่ายังคงนำมาใช้ได้อยู่เสมอ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปสักเท่าไร แม้บางครั้งในที่ทำงานนั้นต้องอาศัยการทำงานแบบเป็นทีม แต่แท้จริงทุกคนก็ย่อมมีความรับผิดชอบและหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราต้องพึ่งตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก พยายามทำงานที่อยู่ในขอบเขตของเราให้เรียบร้อยและตรงเวลา อย่าไปหวังว่าจะให้ใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเดียว เพราะทุกคนก็ย่อมมีงานในความรับผิดชอบของตัวเองแทบทั้งสิ้น เรื่องราวนี้ยังรวมไปถึงการแก้ปัญหาเวลามีอุปสรรคเกิดขึ้นด้วย เราต้องพยายามแก้ไขมันด้วยตัวเอง หากเราผ่านมันไปได้ ก็จะกลายเป็นความภาคภูมิใจแก่ตัวเองในที่สุด

เต็มใจช่วยเหลือคนรอบข้าง

สานต่อจากข้อที่แล้ว การที่เราบอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ได้หมายความว่าให้คุณเป็นคนเห็นแก่ตัว ดังนั้นหากคุณทำงานของตัวเองเสร็จเรียบร้อย แล้วยังพอมีเวลาเหลือ หากเพื่อนร่วมงานร้องขอให้ช่วยเหลือ หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็ควรที่จะเต็มใจช่วย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ อีกทั้งถ้าหากถึงเวลาที่คุณเจองานหรือเจออุปสรรค แล้วสุดท้ายการพึ่งตนเองก็ยังไม่สามารถผ่านพ้นมันไปได้ เพื่อนร่วมงานก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคุณเช่นกัน

มองหาความสำเร็จในอนาคต

การตั้งเป้าหมายในการทำงานให้ตัวเองถือเป็นสิ่งที่ควรทำ คุณควรรู็ตัวอยู่เสมอว่าเราอยากพาตัวเองไปถึงจุดไหน การมีความฝันไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันจะเป็นแรงกระตุ้นให้คุณอยากต่อสู้กับทุกอุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อก้าวไปถึงสิ่งที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ในอนาคต เมื่อคุณเคยเจอปัญหายาก ๆ มาให้พยายามมองถึงภาพรวมของเหตุการณ์ แม้บางครั้งการพยายามแต่ไม่สำเร็จ ก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลวเสมอไป แต่มันคือโอกาสให้คุณได้เรียนรู้นั่นเอง

เรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง

ในโลกของการทำงานมักมีอะไรที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ หรือบางครั้งก็อาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในองค์กรอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม โดยหน้าที่ของคุณคือต้องพยายามเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากมันไม่เกิดขึ้น ก็ถือว่าได้ฝึกตัวเองไป แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริง ๆ ก็ต้องเรียนรู้และยอมรับมันให้ได้ ให้คิดไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิตมนุษย์

หาโอกาสพัฒนาตนเอง

คนที่ไม่หยุดนิ่งจะมีโอกาสก้าวหน้ากว่าคนที่อยู่เฉย ๆ ไปวัน ๆ ได้เสมอ ดังนั้นจึงควรหาโอกาสพัฒนาตนเอง ทั้งในเรื่องจิตใจ กระบวนการทางความคิด เพื่อให้ Resilience Skill ติดตัวไปตลอด รวมไปถึงการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคุณ ลองหาเทคคอร์สออนไลน์เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้คุณมีความรู้เพิ่มมากขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น จนอาจช่วยลดปัญหาที่จะตามมาได้อีกด้วย

แม้เรื่องของความยืดหยุ่นหรือการปรับตัว จะเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมานานแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไป ดังนั้นการนำ Resilience Skill มาใช้ในโลกของการทำงานในยุคปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่คนทำงานยุคนี้ต้องมี เพราะไม่ใช่แค่จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างประสิทธิภาพ สามารถผลิตผลงานออกมาได้เป้าหมายขององค์กรแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญก็เพื่อตัวเราเองนี่แหละ ที่ทักษะนี้จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างเป็นระบบ หากล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาได้อย่างทันท่วงที เพียงแค่นี้ความเครียดก็จะอยู่ห่างตัวเราออกไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวโน้ม Strategic Technology Trends ปี 2023

ทำไมบริษัทเทคต้องสนใจเรื่อง Sustainability